รายงาน: วิเคราะห์ ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ เพศศึกษา และ ‘พ่อวัยรุ่น’ ที่หายไป

22 มิถุนายน 2559

ที่มา https://prachatai.com/journal/2016/06/66460

เดือนกรกฎาคมนี้ ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ กำลังจะบังคับใช้ คนทำงานชี้ข้อดีให้สิทธิวัยรุ่นเต็มที่ แนะจับตาดูการบังคับใช้ พร้อมแสดงความกังวลช่องโหว่หลายจุด ชี้ ‘พ่อวัยรุ่น’ หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชายคือจุดด้อยสำคัญของกฎหมาย

ในแต่ละปีวัยรุ่นทั่วโลกอายุระหว่าง 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยราว 14 ล้านคนต่อปีหรือ 65 รายต่อ 1,000 คนในแต่ละประเทศ โดยร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สถิติสูงสุดอยู่ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และลาตินอเมริกา ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ระดับกลางในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียหรือจีน ตัวเลขที่พบกลับต่ำเพียง 6-9 รายต่อ 1,000 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากว่าเหตุใดประเทศไทยจึงมีจำนวนอัตราแม่วัยรุ่นสูงถึง 55 ราย ต่อ 1,000 คน ซึ่งมากกว่าประเทศใกล้เคียงถึงหลายเท่าตัว

จากสถิติพบว่าหญิงไทยที่คลอดลูกในช่วงอายุต่ำกว่า 19 ปี มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่ากว่าร้อยละ 40 มีเพศสัมพันธ์ขณะเรียน ปวช.ปีที่ 2 (อายุระหว่าง 17-18 ปี) และพบว่ามีแนวโน้มที่จะอายุน้อยลงเรื่อยๆ ตามข้อมูลของของกรมอนามัย

Read more: รายงาน: วิเคราะห์ ‘พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น’ เพศศึกษา และ ‘พ่อวัยรุ่น’ ที่หายไป

รายงานพิเศษ: ทำหมันหญิงพิการ หรือร่างกายไม่ใช่ของพวกเธอ?

9 มิถุนายน 2559

https://prachatai.com/journal/2016/06/66226

ฉายอคติสังคมมองคนพิการไร้เพศ ไม่ยอมให้ความรู้เรื่องเพศ แต่หญิงพิการกลับเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศมากกว่าผู้หญิงทั่วไป 1.5-10 เท่า ซ้ำหญิงพิการหลายรายถูกจับทำหมัน ตั้งคำถาม-พวกเธอมี ‘สิทธิ’ ในเนื้อตัวร่างกายมากแค่ไหน

ภาพโดย Erasmus Student Network International (CC BY-ND 2.0)

ประเทศไทยมีผู้หญิงพิการกว่า 800,000 คน แม้จะบอกไม่ได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ในจำนวนนี้มีหญิงพิการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยการจับทำหมันแบบไม่รู้ตัว บางส่วนถูกโน้มน้าวให้ทำหมัน และถูกทำให้เชื่อว่า การทำหมันช่วยลดการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ แม้เรื่องน่าเศร้าเหล่านี้จะถูกฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก ‘สิทธิ’ ของผู้หญิงพิการก็ยังคงมองแล้วพร่าเลือน

ในอดีตที่ผ่านมา ทัศนคติของผู้อื่นต่อคนพิการและการให้คุณค่าต่อตนเองของคนพิการมักถูกมองข้ามความสามารถเรื่องเพศ มีความเชื่อผิดๆ ว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้สึกทางเพศหรือไม่มีความต้องการทางเพศ เพราะเรื่องเพศมักถูกเชื่อมโยงกับศักยภาพและรูปลักษณ์ รวมทั้งความสวยงามทางร่างกายอยู่เสมอ และยิ่งเห็นเด่นชัดในมุมของผู้หญิงพิการที่มักถูกเลือกปฏิบัติในทั้งสองแง่คือ การเป็นผู้หญิงและการเป็นคนพิการ

"พอนั่งวีลแชร์โอกาสในการเรียนต่อชั้นมัธยมก็หมดไปเพราะสภาพโรงเรียนที่ไม่เอื้อ ความรู้เรื่องเพศที่ว่าน้อยอยู่แล้วในโรงเรียนจึงแทบกลายเป็นศูนย์ ซ้ำร้ายพอเราเริ่มอยู่แต่ในบ้านโอกาสที่จะเจอกับผู้ชายที่ถูกใจ หรือเพื่อนต่างเพศยิ่งน้อยลง จนเหมือนถูกกีดกันออกจากความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาว"

เมื่อทัศนคติเช่นนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย แม้แต่ตัวคนพิการเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตขึ้นในสังคมที่หล่อหลอมให้ต้องเชื่อเช่นนั้นเป็นเสมือนกฎเหล็กที่ทำให้ผู้หญิงพิการหลายคนเลือกที่จะอยู่ในโลกของตนเอง มีชีวิตอยู่กับข้อห้ามและข้อแม้ต่างๆ ตลอดเวลา โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างครอบครัวเป็นตัวกำหนด

Read more: รายงานพิเศษ: ทำหมันหญิงพิการ หรือร่างกายไม่ใช่ของพวกเธอ?

เรื่องเพศในทีวี เรื่องที่ต้องหาจุดสมดุล

3 พฤษภาคม 2559

ที่มา http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1462258003

โครงการสื่อมวลชนศึกษาในยุคการเปลี่ยนผ่านของสื่อ เทคโนโลยี และสังคม จัดเสวนาเพื่อให้ความเห็นต่อผลการศึกษาเรื่อง "เนื้อหาเพศสัมพันธ์โดยนัย ทางดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน" อันเป็นการสำรวจผังรายการทีวีดิจิตอลทุกช่องช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งพบรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเรต "ฉ" ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องออกอากาศระหว่างเวลา 24.00-05.00 น. ของวันถัดไปนั้น 11 รายการ จาก 9 สถานี โดย ช่อง 3HD มากที่สุด 3 รายการ ได้แก่ เทคมีเอ้าท์ ไทยแลนด์, ดันดารา และ วงล้อลุ้นรัก รองมาคือ ช่อง GMM 25 2 รายการ ได้แก่ แฉแต่เช้า และ สมรภูมิพรมแดง ที่เหลือพบช่องละ 1 รายการ ทาง ช่อง 7HD คือ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง...เงินล้าน, ช่องไบร์ท ทีวี คือ แรงชัดจัดเต็ม, ช่องเนชั่น แชแนล คือ เดอะ พีเพิล รู้หน้าไม่รู้ใคร, ช่องเวิร์คพอยท์ คือ ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว, ช่องโมโน 29 คือ เลือกได้ให้เดต และ ช่องวัน คือ สงครามนางงาม เดอะ แคสติ้ง โปรเจ็คต์ โดยรายการเหล่านั้นส่วนใหญ่สถานีจัดเป็นเรต "ท" มีเพียง 2 รายการที่ได้เรต "13" คือ วงล้อลุ้นรักและสงครามนางงาม

ส่วนการศึกษาทัศนคติของผู้ชมจากสื่อออนไลน์อย่างพันทิป, เฟซบุ๊ก และยูทูบ ที่มีต่อรายการโทรทัศน์ที่ทำการศึกษา พบการแสดงทัศนคติที่สื่อถึงเพศสัมพันธ์และแรงดึงดูดทางเพศของผู้ชมต่อเนื้อหารายการผ่านยูทูบมากที่สุด จำนวน 81 ทัศนคติ รองลงมา ได้แก่ เฟซบุ๊ก ที่มีการแสดงทัศนคติใน 3 ลักษณะ คือ ข้อความกับคลิปตัวอย่างรายการ, ข้อความกับภาพที่ออกอากาศในรายการ, คลิปและภาพตัวอย่างรายการ รวม 47 ทัศนคติ โดยเป็นการแสดงความอยากได้หญิงหรือชายที่ปรากฏในรายการ ความต้องการทางเพศ, การวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนถึงสรีระร่างกายรวมไปถึงบุคลิกภาพอื่นๆ ของผู้ที่ปรากฏในรายการ, การโฆษณาสินค้าทางเพศ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้คำด่าที่แทนการมีเพศสัมพันธ์

Read more: เรื่องเพศในทีวี เรื่องที่ต้องหาจุดสมดุล

ความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จของไทย กรณียุติถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด

22 มิถุนายน 2559

https://www.hfocus.org/content/2016/06/12315

เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จ จากกรณีที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด เป็นประเทศที่ 2 ของโลก ชี้ปัญหายังต้องแก้ต่ออีกมาก ทั้งผู้หญิงและแรงงานข้ามชาติ

เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.59 เวลา 09.00 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ อันประกอบด้วยตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เครือข่ายผู้หญิงในระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย จัดแถลงข่าวหัวข้อ “ความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จกรณีการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอซไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด”

สืบเนื่องจากประเทศไทยได้ผ่านการรับรองเรื่องการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิดจากองค์การอนามัยโลก โดยได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากประเทศไทยเข้ารับใบประกาศรับรองในการการประชุมระดับสูงของการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติเพื่อยุติปัญหาเอดส์ (United General Assembly High Level Meeting on Ending AIDS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 มิถุนายน 2559 นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

Read more: ความสำเร็จที่ยังไม่สำเร็จของไทย กรณียุติถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด

เคยสงสัยไหมทำไมละครไทยต้องตบตี! มาถอดรหัส “อคติทางเพศ” “ผู้หญิง” ใน “สื่อ”

10 พฤษภาคม 2559

https://www.matichon.co.th/news/130948

“หากอยากรู้ว่าบ้านเมืองนี้เป็นอย่างไร ให้ดูสิ่งที่ “สื่อ” สื่อสารออกมา เพราะสามารถสะท้อนสภาพสังคมในขณะนั้นได้”

เป็นประโยคคำถามชวนหาคำตอบในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ผู้หญิงในสื่อ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงาน กสทช.

ภายในงาน หลังจากมีการนำเสนอผลงานวิจัย ยังเปิดให้นักวิชาการและผู้รณรงค์ด้านผู้หญิงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ภาพของผู้หญิงในสื่อ”

รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพของผู้หญิงในสื่อไทยไม่หลากหลาย มีแต่จะถูกผลิตซ้ำ เช่น ผู้หญิงในบทบาทแม่ บทบาทภรรยา มีการแย่งชิงผู้ชาย ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงและหลากหลายของผู้หญิง ที่มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งจะทำให้เข้าใจเรื่องเพศสภาพ ชนชั้น ศาสนา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ด้วย ขณะที่เมื่อย้อนไปดูผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อเอง ซึ่งเคยมีการสำรวจผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อ 1,000 กว่ารายในวงการสื่อประเทศออสเตรเลีย พบว่าผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเฉลี่ยร้อยละ 20 ทั้งต้องเจอปัญหาการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ขณะที่พวกเธอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนสุดท้ายต้องตัดสินใจเปลี่ยนงาน

“หากพูดถึงผู้หญิงในสื่อที่พบการละเมิดสิทธิ การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็คงต้องพูดถึงผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อด้วย ซึ่งจะเห็นว่าพวกเธอก็ถูกคุกคามทางเพศเช่นกัน ก็ฝากผู้ผลิตสื่อทุกรูปแบบไปคิดต่อ ทำอย่างไรจะไม่สะท้อนปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำในองค์กรตนเองด้วย” รศ.ชลิดาภรณ์กล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อว่า เคยทำการศึกษาวิจัยนโยบายบริหารงานบุคคลในสถานีโทรทัศน์ที่เป็นฟรีทีวีของไทยทั้ง 6 ช่องเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่างานบริหารบุคคลของทุกช่องไม่มีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเลย ไม่มีมาตรการป้องกันดูแลการคุกคามทางเพศ ส่วนสมมุติฐานว่า หากเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อ จะทำให้สื่อสื่อสารออกมาอย่างคำนึงความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิผู้หญิงหรือไม่นั้น ตรงนี้จากงานวิจัยเดียวกันก็ค้นพบว่า สัดส่วนผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อของไทยมีมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงจะมีสัดส่วนผู้ชายมากกว่า ฉะนั้น เรื่องสัดส่วนของเพศในกระบวนการผลิตสื่อไม่น่ามีนัยยะอะไรกับอคติทางเพศ เพียงอยู่ที่ฐานคิด ทัศนคติของคนผลิตสื่อ

นายนิธิพันธ์ วิประวิทย์ ผู้ริเริ่มแคมเปญ “เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปกติ” ในเว็บไซต์เชนจ์ ดอท โออาร์จี (Change.org) ซึ่งมียอดผู้ร่วมรณรงค์แล้ว 5.9 หมื่นรายชื่อ กล่าวว่า แคมเปญนี้เกิดจากความกังวลที่เมื่อ 2 ปีก่อน ที่สังคมไทยมีข่าวข่มขืนใหญ่ๆ หลายเหตุการณ์ในเดือนเดียวกัน อย่างข่าวนักเรียนในชุดลูกเสือและเนตรนารีร่วมกันจับเพื่อนผู้หญิงร่วมห้องให้เพื่อนชายข่มขืน ซึ่งไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้ไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากที่ไหน แต่ที่สังเกตเห็นคือ พฤติกรรมแบบนี้มีในละครโทรทัศน์ ซึ่งน่าแปลกว่าในช่องเดียวกัน หากเป็นรายการเล่าข่าวตอนเช้า จะบอกพฤติกรรมนี้ว่าเป็นเรื่องไม่ดี เป็นปัญหาอาชญากรรม แต่พอเป็นรายการละครตอนค่ำ กลับทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกสนาน ตนจึงตั้งคำถาม

“พวกเราไม่ได้ต่อต้านฉากข่มขืน แต่ต่อต้านการข่มขืนของพระเอกต่อนางเอกว่าเป็นเรื่องปกติรับได้ จริงอยู่ว่าการดูสื่ออาจไม่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมนั้นในวันสองวัน แต่นี่เป็นการสั่งสมพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ผมและเพื่อนหลายคนเคยส่งอีเมล์แจ้งไปยังช่องต้นสังกัดว่าละครคุณมีปัญหา แต่ช่องกลับเงียบเฉย จึงมาเปิดแคมเปญนี้และร้องกับ กสทช. เพราะอยากเตือนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิด ไม่ควรทำ และนี่ไม่ใช่เรื่องการจำกัดเรตช่วงเวลาฉาย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรมี” นายนิธิพันธ์กล่าว

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า กสทช.อาจไม่มีอำนาจไปลงโทษ เพียงส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ปฏิบัติตามจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเวลาเราเตือนไป พวกเขาก็รับฟังและพยายามปรับปรุงบ้าง อย่างไรก็ดี ตนจะนำร่างแนวปฏิบัตินี้ไปประชุมกับตัวแทนผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ภาพ: รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ดร.ชเนตตี ทินนาม, นิธิพันธ์ วิประวิทย์, สุภิญญา กลางณรงค์

แนวปฏิบัติการ “ผลิตสื่อ” ที่ “คำนึง” สิทธิสตรี
เนื่อง ด้วยสถานการณ์สื่อไทยที่ผ่านมามีปัญหาทางจริยธรรมอยู่ต่อเนื่อง กสทช.จึงให้มีการศึกษาวิจัย “การพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการนําเสนอรายการโทรทัศน์ บนหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรี” มุ่งหวังให้เป็นคู่มือการทํางานของสื่อมวลชนในประเทศไทยต่อไป

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลวิจัยว่า งานวิจัยได้เก็บข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง 10 ปี และได้สนทนากลุ่มกับผู้เกี่ยวข้องด้านข่าว ละคร โฆษณา และผู้ทำงานด้านผู้หญิง พบข้อควรปรับปรุงและต้องส่งเสริมแบ่งเป็น 3 หัวข้อดังนี้

1.แนวปฏิบัติสำหรับรายการข่าวโทรทัศน์ เช่น สื่อไม่ควรตั้งคำถามที่เปิดบาดแผลของแหล่งข่าว ควรนำเสนอประเด็นข่าวด้านบวกเกี่ยวกับผู้หญิง ควรเพิ่มบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์

2.แนวปฏิบัติรายการละครโทรทัศน์ เช่น ควรนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอนามัยเจริญพันธุ์หรือโรคทาง เพศ บนพื้นฐานจากงานวิจัย หรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ไม่ควรสร้างค่านิยมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศที่ สามารถกระทำความรุนแรงได้ ควรนำเสนอช่องทางช่วยเหลือผู้หญิงที่สอดคล้องความจริงในทางปฏิบัติ พร้อมข้อมูลด้านกฎหมาย

3.แนวปฏิบัติรายการโฆษณาโทรทัศน์ เช่น ไม่ควรทำให้เรื่องเพศกลายเป็นสินค้า ไม่สร้างภาพตายตัวว่าผู้หญิงหมกมุ่นอยู่กับการบริโภคอย่างไม่มีเหตุผล ควรนิยามความงามของผู้หญิงที่เกิดจากตัวผู้หญิง ไม่ใช่กำหนดตามอุดมคติของผู้ชายหรือสังคม ที่ต้องขาว ตาโต จมูกโด่ง อกโต

“ไม่คิดว่าแนวปฏิบัตินี้จะไปหยุดความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตสื่อ ขอเพียงทำอย่างไรจะไม่ไปละเมิดสิทธิ ขณะที่ กสทช.เองนอกจากขับเคลื่อนแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ควรแนะนำแนวทางให้องค์กรสื่อเองมีนโยบายบริหารงานบุคคลที่จะทำให้ทุกคนใน องค์กรมีความสุข เท่าเทียมทางเพศ มีมาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศ” ดร.ชเนตตีกล่าวทิ้งท้าย