28 พฤษภาคม 2015

ที่มา http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1432781832

(อโนพร เครือแตง, อัญชนา สุวรรณานนท์, พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร)

การเขียนจดหมายถึงใครสักคนหนึ่ง ดูจะเป็นเรื่องเฉิ่มเชย ล้าสมัยไปแล้วสำหรับคนยุค "4G" แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวไกลไปเพียงใด หาก "ใจ" ของคนที่จะคุยด้วยไม่เปิดรับ ความอึดอัดคับข้องใจคงจะแทบล้นอก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ "ลูกๆ" ที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย ทอม เกย์ ตุ๊ด ดี้ กะเทย ทรานส์เมน (หญิง/ชายข้ามเพศ) ไบเซ็กชวล (ชอบทั้งสองเพศ) ดูจะอยู่ในสถานการณ์ดั่งที่ว่ามาแล้ว "ที่สุด" โดยเฉพาะกับ "คนในครอบครัว" มันยิ่งกว่าความอึดอัดคับข้องใจ แต่มันคือ "ความทุกข์" ที่นำมาซึ่งสถานการณ์อันเลวร้ายของพวกเขาบางคนที่หาทางออกด้วยการ "ฆ่าตัวตาย"

จากสถานการณ์ดังกล่าว โครงการมูลนิธิอัญจารี ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและเครือข่าย ได้เปิดตัวหนังสือ "จดหมายถึงแม่" ที่รวบรวมจดหมายจากลูกๆ ต้องการส่งผ่านความรู้สึกให้พ่อแม่และสังคมได้อ่าน เพื่อความเข้าใจและการยอมรับต่อลูกที่เป็นกะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และทรานส์ เมนที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิอัญจารี กล่าวว่า "จดหมายถึงแม่" เกิดจากความรู้สึกสะเทือนใจที่มีต่อข่าวลูกทอมฆ่าตัวตายและทิ้งจดหมายถึงแม่ เนื้อหาระบุว่าแม่ไม่เข้าใจความรักที่ลูกมีต่อเพศเดียวกัน

"สถานการณ์แบบนี้ลูกที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย ทอมดี้ กะเทย ทรานส์เมน ส่วนใหญ่พบเจอและมีเข้ามาขอคำแนะนำจากทางอัญจารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เช่น การฆ่าตัวตาย การหนีออกจากบ้าน การถูกทำร้าย ข่มขืน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาความรุนแรงและอคติต่อคนกลุ่มนี้อย่างยิ่ง โดยที่ยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การที่พ่อแม่ไม่ยอมรับลูก มีผลด้านจิตใจทำให้ลูกเกิดความเครียด ความกังวล กลัวพ่อแม่ไม่รัก กลัวพ่อแม่เสียใจ จนหลายคนเกิดอาการเครียดและซึมเศร้า จนเสียการเรียนและอนาคตในอาชีพการงาน" อัญชนากล่าว

หนึ่งในผู้ถ่ายทอดเรื่องราวลงบนหนังสือเล่มนี้ อโนพร เครือแตง จากกลุ่ม Love Pattaya กลุ่มหญิงรักหญิง กล่าวว่า ข้อกำหนดตามบรรทัดฐานของสังคมไทยทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยยังไม่เปิดกว้างยอมรับลูกตัวเอง

"เรื่องของตนเองมีหลายเหตุการณ์ที่อยากจะบอกแม่เพราะมีสิ่งที่แม่เข้าใจผิดไม่อยากให้แม่โทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกไม่ดีเลี้ยงลูกผิดพลาดทำให้ลูกกลายเป็นหญิงรักหญิงซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ความผิดของแม่เลย แต่มันเป็นสิ่งที่ลูกเลือก หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสะท้อนได้ดีในครอบครัวที่มีลูกมีความหลากหลายทางเพศ ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องพูดคุยกันอย่างไร เปิดใจรับอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร"อโนพรกล่าว

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดกว้าง คิดเพียงว่าลูกต้องเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น จนนำมาสู่อุปสรรคในการใช้ชีวิต โดยมักแสดงออกกับลูกด้วยความรุนแรง อาทิ คำพูด ความเฉยเมย ไม่ใส่ใจ ไม่เข้าหา ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่พาไปเจอญาติพี่น้อง และมีการลงโทษที่รุนแรง โดยพบอายุน้อยที่สุด 2 ขวบ ไปจนถึงอายุ 10-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่มารู้เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว

"เรื่องนี้อยากให้พ่อแม่เข้าใจว่ามนุษย์มีความหลากหลายทางเพศลูกไม่ได้เลือกว่าจะเป็นเพศอะไรเพียงแต่เขารู้สึกว่าเขาเป็นอย่างไรซึ่งเรื่องเพศเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขอให้พ่อแม่หันกลับมามองความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขที่มีต่อลูก แล้วเปลี่ยนเป็นความเข้าใจยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น หากพ่อแม่ยอมรับลูกได้ จะทำให้ลูกมีผลการเรียนดี มีปัญหาน้อยกว่ากลุ่มที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ ในแง่พฤติกรรมซึมเศร้าหรือการคิดฆ่าตัวตาย" พญ.จิราภรณ์กล่าว