3 พฤษภาคม 2559

ที่มา http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1462258003

โครงการสื่อมวลชนศึกษาในยุคการเปลี่ยนผ่านของสื่อ เทคโนโลยี และสังคม จัดเสวนาเพื่อให้ความเห็นต่อผลการศึกษาเรื่อง "เนื้อหาเพศสัมพันธ์โดยนัย ทางดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน" อันเป็นการสำรวจผังรายการทีวีดิจิตอลทุกช่องช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งพบรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเรต "ฉ" ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องออกอากาศระหว่างเวลา 24.00-05.00 น. ของวันถัดไปนั้น 11 รายการ จาก 9 สถานี โดย ช่อง 3HD มากที่สุด 3 รายการ ได้แก่ เทคมีเอ้าท์ ไทยแลนด์, ดันดารา และ วงล้อลุ้นรัก รองมาคือ ช่อง GMM 25 2 รายการ ได้แก่ แฉแต่เช้า และ สมรภูมิพรมแดง ที่เหลือพบช่องละ 1 รายการ ทาง ช่อง 7HD คือ กิ๊กดู๋ สงครามเพลง...เงินล้าน, ช่องไบร์ท ทีวี คือ แรงชัดจัดเต็ม, ช่องเนชั่น แชแนล คือ เดอะ พีเพิล รู้หน้าไม่รู้ใคร, ช่องเวิร์คพอยท์ คือ ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว, ช่องโมโน 29 คือ เลือกได้ให้เดต และ ช่องวัน คือ สงครามนางงาม เดอะ แคสติ้ง โปรเจ็คต์ โดยรายการเหล่านั้นส่วนใหญ่สถานีจัดเป็นเรต "ท" มีเพียง 2 รายการที่ได้เรต "13" คือ วงล้อลุ้นรักและสงครามนางงาม

ส่วนการศึกษาทัศนคติของผู้ชมจากสื่อออนไลน์อย่างพันทิป, เฟซบุ๊ก และยูทูบ ที่มีต่อรายการโทรทัศน์ที่ทำการศึกษา พบการแสดงทัศนคติที่สื่อถึงเพศสัมพันธ์และแรงดึงดูดทางเพศของผู้ชมต่อเนื้อหารายการผ่านยูทูบมากที่สุด จำนวน 81 ทัศนคติ รองลงมา ได้แก่ เฟซบุ๊ก ที่มีการแสดงทัศนคติใน 3 ลักษณะ คือ ข้อความกับคลิปตัวอย่างรายการ, ข้อความกับภาพที่ออกอากาศในรายการ, คลิปและภาพตัวอย่างรายการ รวม 47 ทัศนคติ โดยเป็นการแสดงความอยากได้หญิงหรือชายที่ปรากฏในรายการ ความต้องการทางเพศ, การวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนถึงสรีระร่างกายรวมไปถึงบุคลิกภาพอื่นๆ ของผู้ที่ปรากฏในรายการ, การโฆษณาสินค้าทางเพศ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้คำด่าที่แทนการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยา ในคณะกรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องเพศเป็นจุดขายสำหรับการทำรายการเพราะดึงดูดความสนใจคนส่วนใหญ่ และทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่คนเรากลับทำให้กลายเป็นเรื่องลับเฉพาะ ดังนั้นที่สำคัญจึงควรใช้การจัดเรตรายการให้เป็นประโยชน์ เช่น ก่อน 22.00 น. เนื้อหาควรจำกัดแค่ไหน หลัง 24.00 น. เปิดเผยได้มากเพียงใด ด้วยการให้ทุกช่องร่วมมือกันให้เป็นรูปธรรมมากกว่าปัจจุบัน

"ที่น่าห่วงคือ ถ้ายังไม่แก้ไขปัญหาเรื่องเพศ มันจะทวีไปเรื่อยๆ มันจะสร้างค่านิยมผิดๆ คือตอนนี้มันรุนแรงแล้ว แล้วในอนาคตสื่อในทีวีจะต้องมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ขึ้นไปทีละขั้น ทีละขั้น คุกคามทางเพศกันมากขึ้นและความไม่ปกติ เราจะมองว่ารูปลักษณ์ดึงดูดเป็นเรื่องที่ใหญ่ เราจะไม่พอใจในตัวเอง เราจะไปศัลยกรรม เพราะรู้สึกว่าอยากสวยแบบในทีวีมากขึ้น เราควรร่วมกันสร้างประเภท "ฉ" และเคารพกติกากันดีกว่า ทำให้รู้กันอย่างเท่าเทียมว่า เราควรใส่อะไรให้คนดูแค่ไหน เราควรทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องเลวร้าย" พญ.พรรณพิมลกล่าว

ขณะที่ น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของทุกคนและของสังคม ซึ่งแต่ก่อนเนื้อหาจะออกในแนวสองแง่สองง่ามนำเสนอกันอยู่ในเฉพาะพื้นที่ แต่ตอนนี้กระจายออกมาอยู่ที่สื่อสารมวลชนจึงควรจัดระเบียบและหาจุดสมดุลในการนำเสนอ อย่างรายการ "ชูรักชูรส" ผู้ชมก็ชมด้วยความเข้าใจ เพราะเป็นรายการที่นำเสนอในแง่ทฤษฎี ใช้ภาษาตรงไปตรงมาแต่ไม่หยาบโลน

ส่วน ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า คนสนใจเรื่องเพศและเสพได้ไม่เคยเบื่อ เพราะเป็นเรื่องจับต้องได้ ตอนนี้เมื่อมีเรื่องเพศมากขึ้นผู้คนจึงหันมาต่อว่าเด็กๆ ที่รับชมและสื่อมวลชน ซึ่งจริงๆ เราควรทำให้เรื่องเพศไม่ได้มีแค่มิติเดียว ไม่ใช่แค่เชิงลามกหรือผิดศีลธรรม แต่ควรบวกรวมในแง่ศิลปวัฒนธรรมแล้วนำเสนอออกมาอย่างเท่าเทียมทั้งเรื่องของหญิง-ชาย ที่สำคัญควรมีการจัดทำว่าวาทกรรมใดที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด

"อยากให้ทีมงานทีวีผลิตรายการแบบคัดกรอง คือไม่ได้แค่เด็ก แต่บางผู้ใหญ่เห็นมากก็เอียน ถ้าเราเปิดดูรายการปกติทั่วไปแล้วเจออะไรแบบนี้เยอะๆ มันควรย้ายเวลา หรือเปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นอีกระดับไปเลย และเราควรทำเรื่องเพศออกมาให้เท่าเทียม เพราะสมัยนี้สังเกตดูมีการกดขี่ทางเพศให้เห็นในทีวีเยอะแยะมากมาย กดขี่ผู้หญิง เอาหุ่นผู้หญิงมาพูดให้อับอายแล้วสนุก กดขี่เพศที่สามหรือสี่ กดขี่ให้ดูตลก หรือหนักเข้าก็ไปสัมผัสร่างกายกันเลย" ดร.ชเนตตีกล่าว

สำหรับ นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตนรู้ชะตากรรมว่าสื่อทีวีต้องถูกมองเป็นจำเลยสังคม แต่สิ่งที่อยากให้ระวังคือสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กที่ไร้การเซ็นเซอร์ เพราะต่อไปสื่อทีวีคงไม่ได้รับความนิยมเหมือนเก่า รวมทั้ง

ตอนนี้เนื้อหาใดที่ใส่ในทีวีไม่ได้ก็จะไปลงในเฟซบุ๊กแทน ส่วนตัวตนเห็นด้วยกับการจัดเรต "ฉ" แต่ควรพูดคุยกันว่าทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามเรื่องเพศถือเป็นเรื่องปกติ แต่เรามักทำให้เป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แถมยังส่งผลต่อผู้บริโภค ดังนั้นจำเป็นต้องหาวิธีทัดทาน

"แต่บอกเลยว่าคนส่วนใหญ่รับอะไรแบบนี้ ละครน้ำดีคนชอบ แต่ส่วนใหญ่คนก็ชอบละครน้ำเน่า เราแค่ขาดคนดูแลที่ถูกต้อง รายการดีๆ ก็ทำได้ แต่มันไม่มีกระแส มันคือธุรกิจ สื่อทีวีคือสิ่งที่เห็นปฏิกิริยาชัดที่สุด เราควรจะป้องกันไม่ให้ความผิดในสื่อเกิดขึ้น หรือแก้ไขในสิ่งที่ผิด หรือทำทั้งสองอย่าง ร่วมกันหาวิธีหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง" นายฉัตรชัยกล่าวในที่สุด