1 สิงหาคม 2559

http://www.goodlifeupdate.com/23092/healthy-body/disease/health-news/pregnant-teenage-555/

สังคมไทยในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการ ตั้งครรภ์ ก่อนวัยอันควรเรียกได้ว่า มีอัตราที่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยการคบเพื่อนต่างเพศที่ถือเป็นเรื่องปกติ มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความอยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ๆ แต่ขาดการความรู้และความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ถือได้ว่าเป็นวันแรกของการบังคับใช้ พรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ออกมาเพื่อป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณปีละ 700,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนประมาณ 120,000 คน และเด็กที่เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3,500 คน มีความคาดหวังว่าหลังจากการบังคับใช้พรบ.ฉบับนี้ จะสามารถช่วยลดจำนวนเด็กที่เกิดจากพ่อแม่อายุต่ำกว่า 20 ปีลงได้ 75 %

พรบ.ฉบับนี้กล่าวถึงเรื่องที่สำคัญทั้งหมด 5 เรื่องได้แก่ 1. สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศศึกษาอย่างเหมาะสม ตลอดจนให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษา รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2. สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ 3. สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม 4. การจัดสวัสดิการและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 5. ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่าจากการสำรวจสาเหตุการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. ในเขตกรุงเทพ,เชียงใหม่,ขอนแก่น,ชลบุรี และสงขลา จำนวน 3,053 คน พบว่าสาเหตุการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นอันดับหนึ่งมาจาก เลียนแบบเพื่อนและสื่อถึง 73.9% รองลงมาคือ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพักอาศัยอยู่คนเดียว ห่างไกลผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามกลุ่มนักเรียนเกินขึ้นบอกกว่ายอมรับได้หากเพื่อนของตนตั้งครรภ์ระหว่างเรียน และมีเพียง 28% ที่รับไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ วัยรุ่นไม่ทราบว่า มีการเปิดให้บริการของคลินิกวัยรุ่น และมีผู้ไปใช้บริการเพียง 1% เท่านั้น

นางอุษาสินี ริ้วทอง เจ้าหน้าที่โครงการเพศวิถีศึกษารอบด้าน มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า สิ่งที่จะช่วยเด็กได้คือ ต้องช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจและเปิดใจมองเรื่องเพศเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน สอนให้เด็กเข้าใจถึงการป้องกันที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามสมัยนิยมและบริบททางสังคมใหม่ๆ

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสังคมที่เราต้องช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานคนใกล้ตัวอย่างใกล้ชิด ให้ความรัก ความเข้าใจ และความรู้แก่วัยรุ่น พูดคุยกัน เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น