9 กันยายน 2559

ที่มา http://www.hugmagazine.com/ColumDetail/tabid/82/articleType/ArticleView/articleId/5432/categoryId/36/---.aspx

     หลังจากฉบับก่อน เราได้เห็นผลที่เกิดขึ้นแล้วว่าการไม่คุยกันในเรื่องเพศ และมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อเรื่องนี้ส่งผลอย่างไรกับผู้หญิงได้บ้าง และนอกจากตัวเองแล้ว สังคมโดยรวมก็มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสุขภาพทางเพศที่ดีด้วย ฉบับนี้เรายังอยู่กับคุณจิตติมา ภาณุเตชะ เพื่อพูดคุยและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศกับผู้หญิงและสังคมยุคใหม่ ให้ก้าวผ่านกรอบที่เคยมีค่ะ

ความสำคัญของการออกแบบระบบบริการสังคม

    ในประเทศต่างๆ ที่มีความละเอียดอ่อนต่อเรื่องนี้ ห้องน้ำ 10 ห้องเขาจะเป็นห้องน้ำผู้หญิงสัก 7 – 8 ห้อง ห้องน้ำผู้ชายสัก 2 ห้อง เพราะอะไร ถ้าเราไปสังเกตทุกที่คิวห้องน้ำผู้หญิงยาวมาก แต่ห้องน้ำผู้ชายจะว่าง 
    นี่คือการออกแบบระบบบริการสังคมที่มีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นเพศ ถ้ารัฐบาลไม่เห็น เราก็ต้องชี้ให้เห็น เพราะมันจะกลับมาสู่สุขภาพของผู้หญิง เช่น ห้องน้ำในบริษัทต่างๆ จะแบ่งสัดส่วนเรื่องนี้อย่างไร เป็นต้น
    ท้ายที่สุดวิธีการมองต่ออาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศของตัวเอง ผู้หญิงก็ต้องเข้าใจมันพอ เฮ้ย สังคมบอกว่า หมอต้องด่าฉันแน่เลย ฉันไปทำอะไรไม่ดีไหม แต่ความจริงก็คือท่อปัสสาวะอักเสบนะ ถ้าไปหาหมอตั้งแต่ต้นๆ กินยาฆ่าเชื้อก็จบ 
    การจะกล้าหรือไม่กล้าไปหาหมอ ก็ต้องขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราถูกปลูกฝังให้รู้สึกมั่นใจ และระบบบริการสุขภาพทางเพศเข้าใจความกลัว ความอายของผู้หญิงตรงนี้ไหม 



นิยามของคำว่าสุขภาพทางเพศที่ดี

    พี่นิยาม 2 ระดับค่ะ ระดับแรกก็คือระดับบุคคล ระดับพวกเราทุกคน พี่คิดว่าต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกาย มีข้อมูล มีทักษะ 
    ข้อมูลคืออะไร คือข้อมูลที่จะทำให้ตัวเองมีความปลอดภัย ข้อมูลเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเรื่องแหล่งบริการต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถไปใช้ได้ดีพอ ข้อมูลเรื่องทางการแพทย์ต้องเท่าทันนะว่า สิ่งนี้มาพร้อมกับโฆษณาแฝงไหม มาพร้อมกับการขายผลิตภัณท์ไหม 
    ต่อมาก็คือมีทักษะที่จะทำให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตสุขภาพทางเพศได้ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษะทางสุขภาพอย่างเดียว ต้องเป็นทักษะทางสังคมด้วย ¬เช่น การต่อรอง การปฏิเสธ การขอความช่วยเหลือ เพราะว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราคนเดียวนะ มันเกี่ยวข้องกับคู่ เกี่ยวข้องกับคนรอบข้างด้วยจึงต้องมีทักษะเรื่องเหล่านี้ เขาถึงสอนเด็กเล็กๆ ว่าต้องมีทักษะขอความช่วยเหลือได้และแก้ปัญหาได้ด้วย นี่คือระดับบุคคล 
    ระดับที่สองก็คือระดับคือสังคม สังคมที่จะเอื้อต่อการมีสุขภาพทางเพศที่ดีนั้น ก็ควรเป็นสังคมซึ่งมีระเบียบ มีกฎหมาย มีนโยบายที่มันเอื้อ คำว่าเอื้อในที่นี้หมายถึงมีบอกว่าอะไรคือการละเมิดสิทธิ์ อะไรคือทำไม่ได้ 
    อย่างทุกวันนี้ ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวนะ เรามีพรบ. เรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น ระบุเลยว่าโรงเรียนจะต้องไม่ตัดโอกาสทางการศึกษากับเด็กตั้งครรภ์ หมายความว่าไล่ออกไม่ได้ นี่คือกฎหมายที่มันเอื้อ 
    อีกเรื่องหนึ่งคือกฎหมายบอกว่าสังคมไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าสอนเพศศึกษาดีไหม เพราะมันเป็นสิทธิของเด็กที่จะต้องได้รับความรู้เรื่องนี้ เพราะเป็นข้อมูลสำคัญ ถ้าเราอยู่ในสังคมแบบนี้ก็จะทำให้เรามีสุขภาพทางเพศที่ดี เพราะสังคมพร้อมที่จะให้ความรู้เรา 

สุขภาพทางเพศส่งผลต่อความสัมพันธ์อย่างไร

    เวลาพูดเรื่องนี้ ถ้ามองกลับไปมันจะมีตัวปัญหาขึ้นมานำก่อน ที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหา HIV เอดส์ ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากเรื่องสุขภาพทางเพศ แล้วโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็อยู่ในชีวิตคู่ด้วย ฉะนั้นในเชิงตัวปัญหามันชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะแก้ไขได้อย่างไร 
    ซึ่งพี่มองว่าเรื่อง ‘การสื่อสารเรื่องเพศในชีวิตคู่ ในสามีภรรยาเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น’ สำคัญมาก ต้องคุยกัน พี่ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่สถาบันมะเร็ง เขาเล่าให้ฟังแบบกึ่งตลกว่า ถ้าใครอยากได้ยางวง แล้วไม่รู้จะไปหาที่ไหน ให้มาที่สถาบันมะเร็ง มีเป็นถังๆ เลย 
    ถามว่ามาได้อย่างไร อ้าว ก็ตอนตรวจช่องคลอดผู้หญิง เจอข้างในเยอะเลย ผู้หญิงหลายคนมาด้วยอาการเจ็บท้องน้อย ตกขาว มีกลิ่น มีปัญหา ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อมาตรวจภายใน... นี่ เห็นไหม ผู้หญิงจะไปตรวจก็ต่อเมื่อเจ็บมากแล้ว ทนไม่ได้แล้ว 
    เมื่อมาตรวจภายใน เปิดเข้าไปแล้วเจอสารพัด หลายอย่าง แล้วสิ่งที่เจอบ่อยมากก็คือหนังยางหรือยางวงนี่แหละ มันไปอยู่ในช่องคลอดผู้หญิงได้อย่างไร แล้วสำคัญที่สุดคือเจ้าตัวงง ไม่รู้ว่ามาอย่างไร 
    แต่คุยไปคุยมาก็พบว่าส่วนใหญ่มาจากว่าสามีใช้หนังยางรัดอวัยวะเพศตัวเองไว้ เพราะอยู่กับความคิดความเชื่อว่าผู้ชายถ้าจะให้ดี ให้เจ๋ง ต้องเก่งเรื่องเพศ แล้วสิ่งที่คิดว่าเจ๋ง เก่งในเรื่องเพศคือต้องมีเพศสัมพันธ์ได้ยาวนาน เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงมีความสุข ต้องหลั่งช้าอะไรแบบนี้ 
    เขาอยู่กับความคิดแบบนี้ แล้วมันมีความเชื่อต่อๆ กันมาว่า ใช้หนังยางรัดอวัยวะเพศสิ จะได้หลั่งช้า ส่วนภรรยาเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้พูด ไม่ได้คุย ไม่ได้สื่อสาร แทบจะไม่ได้ดู ไม่ได้เห็นอะไรกันเลย ก็เลยทำให้หนังยางร่วง หลุดอยู่ในช่องคลอดผู้หญิง แล้วผู้หญิงก็ไม่รู้ตัว นี่ยังเป็นเรื่องแค่นี้นะ ซึ่งมันอาจจะมีอีกหลายเรื่อง เช่น การใช้อุปกรณ์เสริมความสุขสารพัดอย่าง 
    ประเด็นของพี่ก็คือว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ตั้งแต่เชื้อสารพัดอย่าง รุนแรงไปจนถึงเชื้อ HIV เอดส์ ก็มาจากรากฐานเรื่องเหล่านี้แหละค่ะ คือเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ผู้ชายเป็นคนคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นคนควบคุม ส่วนผู้หญิงเป็นฝ่ายที่เขาว่าอย่างไรก็ตามนั้น นี่คือความสัมพันธ์ในคู่ที่ส่งผลต่อเรื่องสุขภาพ 
    เพราะไม่ได้คุยกัน และไม่ได้หาข้อตกลงว่าอะไรคือความปลอดภัย อะไรคือสิ่งซึ่งดีต่อทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องนับเรื่องว่าจะให้ผู้หญิงไปบอกผู้ชายให้ใช้ถุงยางอนามัย ผู้หญิงเองบางคนจะกินยาคุมยังกินไม่ถูกเลย ต้องให้คุยกับสามีอีกก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
    ฉะนั้นความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ การสื่อสารเรื่องเพศในชีวิตคู่ มันไม่ใช่แค่การสื่อสารเพื่อสร้างความสุขว่า ชอบแบบไหนอย่างเดียวนะ มันคือการช่วยป้องกันอันตรายจากเรื่องเพศได้เยอะ ถ้าเราคุยกัน
    มองมุมกลับ ถ้าผู้ชายที่นำหนังยางรัดอวัยวะเพศเขาได้คุยกับภรรยาสักหน่อยว่า จริงๆ แล้วเธอชอบแบบไหน หลั่งช้า หลั่งเร็วมีผลไหม ภรรยาอาจจะบอกว่า เธอ... ฉันไม่ได้ต้องการแบบไหนเลย แค่ก่อนจะมีอะไรกัน เธอโอ้โลมปฏิโลมฉันสักหน่อย คุยกับฉันดีๆ สักหน่อย ผู้ชายก็จะ อ๋อ จริงๆ แล้วภรรยาไม่ได้ชอบคนอึด แต่ชอบคนเอาอกเอาใจ
    นี่คือเกิดการสื่อสารกัน แต่กระบวนการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ยากมากถ้าเราเองและสังคมยังไม่ได้รื้อว่า เรื่องนี้คุยกันได้ พูดกันได้ ทั้งในพ่อแม่กับลูก สามีกับภรรยา ซึ่งพี่คิดว่าสิ่งนี้เป็นรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมความสัมพันธ์

ทำอย่างไรให้สามารถคุยเรื่องเพศได้ในครอบครัว

    เราพบว่าก่อนที่จะไปคุยเรื่องเพศสารพัดอย่าง ต้องปรับความสัมพันธ์ก่อน พ่อแม่ลูกต้องคุยกันได้ก่อน เพราะเรื่องเพศว่าคุยกันยากแล้วนะ คุยกันเรื่องง่ายๆ ให้ได้ก่อน อย่างอาหารเย็นวันนี้จะกินอะไร ลูกทำไมกลับดึก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐาน ต้องมีทั้งมุมมองและทักษะที่จะคุยเรื่องนี้ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยมาปรับมุมมองเรื่องเพศ
    เพราะทุกวันนี้เรื่องเพศถูกสื่อสารผ่านการขู่ การทำให้กลัว ให้รู้สึกว่าสกปรก อันตราย แต่นั่นไม่ใช่วิธีการที่เราจะพ้นปัญหา เพราะท้ายที่สุด มันเป็นวิถีชีวิต ในความเป็นจริงมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต คือพัฒนาการ เราต้องอยู่กับมัน แต่เราถูกทำให้อ่อนแอ และไม่เข้าใจมันผ่านคำขู่ เช่น อันตรายนะ อย่างไปยุ่ง เดี๋ยวเหอะ ถ้าพลาดขึ้นมา... 
    ซึ่งมันไม่ได้ทำให้เราเข้มแข็ง มีทักษะ มีความรู้พอที่จะใช้ชีวิตด้านนี้ได้อย่างปลอดภัยนะ เรื่องนี้สังคมไทยพามาผิดทางนานแล้ว ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ทุกวันนี้เราปรับตัวมากขึ้นเพราะอันตรายจากเรื่องเพศเผยโฉมให้เห็นมากขึ้นผ่านทุกคน รวมทั้งเด็กและเยาวชน จะเห็นว่าตัวเลขแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่เริ่มตระหนักแล้วว่าฉันต้องคุยกับลูก แต่จะคุยแบบไหนให้ได้ผลมากที่สุด
    ต้องเปลี่ยนวิธีคุย ต้องเป็นเพื่อน ต้องสื่อสารกันให้ได้แล้วคุยเพื่อที่จะทำให้เขารู้สึกมั่นใจในตัวเอง เข้าใจร่างกายของตัวเอง มีข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกหยิบมาใช้ในภาวะที่สถานการณ์ชีวิตเผชิญอยู่ได้อย่างรอบด้าน เพราะเราไม่สามารถที่จะสอนคนให้จำเรื่องเพศแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้าได้นะ แต่ต้องสอนทั้งวิธีคิดและทักษะ
    วิธีคิดก็คือประเมินได้ ต้องใช้การประเมินเนอะ เมื่อประเมินเสร็จอย่างไรต่อ ก็ต้องมีข้อมูลเพียงพอ แล้วนอกจากข้อมูล ยังไม่พอนะต้องมีทักษะด้วย เรื่องนี้จะชัดเจนมาก เมื่อเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายอยู่ในภาวะที่ถูกลวนลามทางเพศ วิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกลวนลามทางเพศคือ ต้องเริ่มจากสอนให้เขาประเมินได้ 
    เฮ้ย เริ่มไม่ชอบมาพากลแล้ว แล้วทำอย่างไร คนที่จะขอความช่วยเหลือคือใคร ต้องมีทักษะอย่างไรเมื่อจะขอความช่วยเหลือ ใช้ทักษะอย่างไรเพื่อเอาตัวเองออกจากปัญหาก่อน เสร็จแล้วค่อยไปขอความช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้ต้องสอนกันค่ะ พ่อแม่ต้องรื้อมุมมองแรกก่อน เลิกขู่ได้แล้ว เรามักจะขู่ลูกไง แต่จริงๆ ต้องมีข้อมูลและทักษะที่จะคุยกับลูกเรื่องนี้
ฝากถึงผู้หญิงยุคใหม่ 
    คิดว่าสำคัญที่สุดคือต้องรักตัวเองนะ พี่มีสโลแกนอันหนึ่งก็คือ ในเมื่อสังคมยังไม่เปลี่ยน และระบบต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าเราอยากมีสุขภาพที่ดีนะ ก็ต้องเริ่มที่ตัวเอง แต่เราจะเริ่มที่ตัวเองไม่ได้เลยถ้าเราไม่รู้สึกว่า เราต้องการเปลี่ยนแปลง เราต้องการรักตัวเอง แล้วทำให้ตัวเองรู้สึกดีในบางเรื่อง ฉะนั้นอยากให้กลับมาสนใจ ใส่ใจ แล้วก็หาข้อมูล และออกจากความกลัวค่ะ 
    บางครั้งอาจไม่แน่ใจว่าอย่างไรดี อยากจะให้มั่นใจว่าการหาข้อมูลเรื่องเพศ เป็นเรื่องซึ่งผู้หญิงทุกคนต้องทำ การเข้าใจเรื่องเพศในที่นี้หมายถึงเริ่มจากการเข้าใจเรื่องร่างกายของเรานะ ต้องกลับมาดูมาใส่ใจ อาจจะเริ่มจากการหยิบกระจกสักบาน แล้วก็ก้มลงส่องอวัยวะเพศของตัวเองดูเพื่อจะได้เข้าใจสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ละเลย เราส่องกระจกดูหน้าทุกวันเนอะ ไม่ได้ดูอวัยวะเพศตัวเองเลย อาจจะต้องไปทักทาย เยี่ยมเยียนกันสักหน่อย ว่าเป็นอย่างไร 
    และพยายามหาข้อมูลที่เอื้อต่อเรื่องของการปฏิบัติดูแลสุขภาพของตัวเอง แล้วท้ายที่สุดคิดว่าคือ ถามตัวเองให้ชัดว่า ตัวเองมีความต้องการ มีเป้าหมายอย่างไรบ้างในการใช้ชีวิต แล้วพยายามที่จะเลือกทำตามเป้าหมายนั้น