30 กรกฎาคม 2559

ที่มา https://prachatai.com/journal/2016/07/67164

ทอมเป้าอาชญากรรมจากความเกลียดชัง 10 ปีเกิดการฆาตกรรมทอมอย่างรุนแรง 11 ราย เชื่อยังมีการทำร้ายอีกมากที่ถูกปกปิด นักวิชาการชี้อคติและความเกลียดชังเป็นผลจากการนิยมความเป็นชายในสังคม มองทอมเป็นการคุกคามความเป็นชาย

ภาพจาก http://doublethink.us.com/paala/2012/11/27/hate-crime-in-alabama-stand-up-for-love/

คดีข่มขืนอุกฉกรรจ์อย่างคดี ‘น้องแก้ม’ จนถึงกรณี ‘ครูอิ๋ว’ สร้างความสะเทือนใจและความโกรธแค้นต่อสังคมโดยรวม เกิดกระแส ‘ข่มขืน=ประหาร’ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ภายใต้เงามืดของความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงนั้น จำนวนมากถูกซ่อนเร้นจากการรับรู้ การข่มขืนที่ปรากฏเป็นข่าวก็แค่ยอดภูเขาน้ำแข็งยอดเล็กๆ ที่ตัวภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาถูกปกปิดด้วยผิวน้ำจากความพิกลพิการในสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิง

และเมื่อยิ่งเป็นผู้ที่มีเพศภาวะเป็นหญิง แต่มีอัตลักษณ์และเพศวิถีเป็น ‘ทอม’ ด้วยแล้ว ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืน ก็ดูเหมือนถูกปิดทับและไร้เสียงหนักข้อขึ้นไปอีก ไม่เพียงเท่านั้น ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อทอมกลับได้รับเสียงเชียร์หรือเห็นด้วยจากผู้ชาย

ในมุมมองของกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ ‘ทอม’ ก็คืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) รูปแบบหนึ่ง

จาก http://hatecrime.osce.org/what-hate-crime ให้ความหมายของ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังว่า เป็นอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากอคติ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อปัจเจกบุคคล รวมถึงชุมชนและสังคม มี 2 เงื่อนไขที่จะเข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคือ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎอาญา และสอง-ต้องเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจจากอคติ แรงจูงใจที่เกิดจากอคติมาจากการตีตรา การขาดขันติธรรม หรือจากความเกลียดชังโดยตรงที่มีต่อกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะร่วมกัน เช่น เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา เพศวิถี หรือแม้แต่คนพิการก็อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมจากความเกลียดชังได้

“พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ”

สถิติคดีอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2556-2557 เฉพาะที่ผู้หญิงถูกทำร้าย พบว่า มีการรับแจ้งเหตุผู้หญิงถูกทำร้าย 28,714 ราย ในจำนวนนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีเพียง 12,245 ราย หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่รับแจ้งทั้งหมด และมีการจับกุมได้เพียง 3,673.5 ราย ส่วนที่หลบหนีและเคลียร์คดีมีอยู่ 2,081.65 ราย ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงมีการจับกุมได้ร้อยละ 13 เท่านั้น

กฤตยา อธิบายว่า ข้อเท็จจริงทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้หญิง ซึ่งรวมถึงทอมถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนมากจะไม่แจ้งความ อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่มีการเก็บสถิติที่เกิดกับทอม แต่เมื่อผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจะทำและรู้สึกคือเงียบ รู้สึกละอาย และรู้สึกว่าเป็นบาปกรรมของตน

“เพศภาวะทอมเป็นเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย ทั้งที่โดยตัวทอมแต่ละคน ไม่ได้ไปคุกคามใคร แต่ความเป็นทอม ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคามความเป็นชายที่อยู่ในวิธีคิดของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วผู้หญิงก็เชื่อแบบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพ่อแม่ที่จ้างคนมาข่มขืนลูกหรอก”

จากการรวบรวมของกฤตยา ยังพบว่า มีข่าวอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดกับทอม 11 ราย ตั้งแต่สิงหาคม 2549-เมษายน 2559 ซึ่งสภาพการก่อคดีมีความรุนแรง เช่น การข่มขืนและรัดคอจนเสียชีวิต การเผาทั้งเป็น การใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและฟันด้วยมีด เป็นต้น

อคติและความเกลียดชังยังเผยให้เห็นได้ตามโลกโซเชียล มิเดีย อย่างกรณีข่าวเสก โลโซ ทำร้ายทอม ในเฟซบุ๊กของข่าวสด จะพบว่าความคิดเห็นท้ายข่าวจำนวนหนึ่งแสดงออกชัดเจนถึงอคติและความเกลียดชัง เช่น “ทอมมักแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ชาย แต่พอสู้ไม่ได้ก็อ้างว่าตนเองเป็นผู้หญิงใช้ปะ” “กูเคยคบกับทอมคนหนึ่งมันชอบโชว์เก๋า ใช้คำพูดห้าวๆ แบบไม่สนใจใคร ทำอะไรเหมือนผู้ชาย วันนั้นมันชวนผมกินเหล้าที่บ้าน พอมันเมาหลับ ผมเลยจัดไปสองดอก เช้ามาเรียกผัวจ๋าซื้อข้าวให้เมียหน่อย ยุติความเป็นทอมตั้งแต่วันนั้น” หรือ “จากที่อ่านดู พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ น่ะ ถ้าเทียบกับผู้ชายแท้ๆ ผมเป็นเสกผมก็จัดเหมือนกัน” เป็นต้น