1มีนาคม 2560

ที่มา: www.krobkruakao.com

2 วันที่ผ่านมาได้นำเสนอปมพัทยาเมืองหลงเซ็กซ์โลกจริงหรือ ซึ่งพบว่ายังมีการค้าประเวณีจากอดีตถึงถึงปัจจุบันแต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่ได้พูดถึงอย่างกรุงเทพฯ จุดที่มีการขายบริการก็เป็นพื้นที่เดิมๆ เราส่งทีมข่าวเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ลงพื้นที่ไปสำรวจจุดแรกหลังโรงแรมสยามเลียบทางรถไฟมักกะสัน 

กลุ่มหญิงและสาวประเภทสองขายบริการหลังโรงแรมสยาม ตั้งแต่ 19.00 น.เป็นต้นไปก็จะพากันมายืนเรียงรายเป็นจุด ๆ โดยคนที่มาซื้อบริการจะขับรถวนดูซึ่งมีทั้งรถยนต์ส่วนตัวหรือกระทั่งนั่งรถแท็กมา เมื่อถูกใจคนไหนก็จะจอดรถสอบถามราคาหากตกลงกันได้ก็พากันไปเปิดโรงแรมแห่งหนึ่งในซอยเพชรบุรี 37 สำหรับค่าตัวอยู่ที่ 1,200-1,500 บาท 

อย่างไรก็ตามจุดนี้จะเห็นผู้ชายกลุ่มหนึ่งหรือที่เรียกว่าพ่อเล้ามายืนคุม ถือไฟฉายคอยเรียกแขกและเป็นคนติดต่อแนะนำหญิงสาวให้ผู้ที่มาซื้อบริการ เมื่อตลกงกันได้ก็จะพาขึ้นรถและเรียกเก็บค่าหัวคิวจากหญิงสาว

อีกจุดหนึ่งคือสวนลุมพินีฝั่งถนนวิทยุ จุดนี้มีจำนวนลดลงจากเมื่อก่อน แต่ภาพที่เห็นนี้มีการยึดป้ายรถเมล์เป็นจุดขายบริการ ห่างจาก สน.ลุมพินี ประมาณ 500 เมตร โดยพวกเธอจะนั่งจับกลุ่มคุยกันรอคนมาซื้อบริการ เมื่อมีคนขับรถมาจอดก็จะเดินเขาไปเคาะกระจกแล้วพูดว่า"ไปกับหนูมั้ยคะ"ก่อนจะเสนอราคาค่าตัวหลักร้อยบาท 

ขณะที่วงเวียนใหญ่ จากการสังเกตกลุ่มคนเหล่านี้น่าจะมีเยาวชนรวมอยู่ด้วย  ส่วนหนึ่งนั่งอยู่ตามฟุตบาทคอยเรียกแขกขณะที่อีกส่วนหนึ่งนั่งจับกลุ่มดื่มเบียร์อย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่เห็นจนชินตาของคนที่ขับรถผ่านไปมาแถวนั้น ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางจุดเท่านั้นแต่ยังมีซอยนานาแหล่งรับแขกต่างชาติ คลองหลอด หน้าวังสราญรมย์ วงเวียน 22 ล้อมบริเวณรอบสถานีรถไฟหัวลำโพงด้วย แม้จะมีการกวาดล้างไปแล้วแต่ก็มีคนเข้ามาลักลอบขายบริการอยู่ดี

ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการด้านเพศวิถีศึกษา ระบุว่า ทุกวันนี้สังคมมองภาพผู้หญิงขายบริการและตีตราทำให้เขาเป็นคนบาปหรือทำให้เป็นคนชั่วในมิติต่าๆ หากมองผู้หญิงด้านสิทธิมนุษยชนเรื่องการค้าบริการทางเพศทำให้พวกเธอเหล่านั้นไม่มีทางเลือก ขณะที่การค้าบริการทางเพศจะพบเห็นอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเพราะเป็นยุคไร้พรมแดน 

ผู้หญิงหลายคนที่ไม่มีทางเลือกและโครงสร้างของสังคมไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเหล่านี้มากนัก พวกเธอจึงตัดสินใจเข้าสู่วงจรขายบริการทั้งเต็มใจหรือในรูปแบบค้ามนุษย์ สำหรับผู้หญิงที่เลือกอาชีพธุรกิจเรื่องเพศก็เป็นทางเลือกของอาชีพอีกมิติหนึ่ง เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วมนุษย์จะมีเสรีภาพบนร่างกายของตนเองสอดคล้องกับแนวคิดของนานาประเทศ อย่างเช่น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งออกมารณรงค์เรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกมองเห็นคุณค่าของอาชีพค้าบริการว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำได้และถูกกฎหมาย เมื่อนำอาชีพในมุมมืดเข้าสู่พื้นที่สว่างผู้หญิงเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการดูแลด้านต่าง ๆ เมื่ออาชีพขายบริการเป็นที่ยอมรับและจัดให้มีระบบจ่ายภาษีก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ขณะที่นักสิทธิมนุษชนอยากให้เรียกกลุ่มคนขายบริการทั้งผู้หญิง สาวประเภทสอง ผู้ชายว่า 'พนักงานบริการ"