1 ธันวาคม 2559

ที่มา http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/69497

เปิดใจเหยื่อความรุนแรงชาวออสซี่ ผันตัวเองเป็นนักรณรงค์ ชวนวิ่งในแคมเปญ Beach Run For Awareness หวังปลุกพลังบวก ให้ผู้หญิงลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ปรับมุมมองสังคมไม่ตีตราผู้ถูกกระทำ ขณะที่ผลสำรวจพบข่าวข่มขืนในไทยยังน่าห่วง

 

นางสาวแคลร์ เม็คฟาเลน (Claire Mcfarlane)นักรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เปิดเผยในเวทีเสวนา"ข่มขืนกับการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง" จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสมาคมเพศวิถี เพื่อเป็นการถอดบทเรียนการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การลุกขึ้นสู้เพื่อความถูกต้องของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในระดับสากลกับประเทศไทยวันที่ 1 ธ.ค.59 ว่า ตนเองเคยเป็นผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ เหตุการณ์เกิดขึ้นปี2542 ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต้องทำงานส่งตัวเองเรียน โดยทำงานในบาร์แห่งหนึ่ง วันนั้นหลังจากเลิกงานประมาณ ตี 3 เดินกลับบ้านตามปกติ แต่เจอคนแปลกหน้าเข้ามาทำร้าย และถูกข่มขืน ทั้งทุบตี ใช้มีดกรีด ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวที่โรงพยาบาล3เดือน แม้แจ้งความกับตำรวจไว้แต่คดีไม่คืบหน้า จนผ่านมากว่า10 ปี  ตำรวจบอกว่าเจอตัวคนร้ายที่ก่อคดีเพราะDNAตรงกับที่เคยไปแจ้งความไว้ อีกทั้งคนร้ายรายนี้ไปก่อคดีกับคนอื่น ขณะนั้นตนอยู่ที่ออสเตรเลีย ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการเดินทางเพื่อดำเนินคดีที่ปารีส   

นางสาวแคลร์ กล่าวว่า จากบทเรียนชีวิตครั้งนี้ได้ผันตัวเองมาทำงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะเห็นถึงปัญหาที่กระทบต่อตนเองโดยตรง อีกทั้งสังคมยังตีตราผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงไม่ดี ถูกทำให้อับอาย ตนจึงอยากส่งเสียงให้ผู้ที่ถูกกระทำด้วยกัน ลุกขึ้นมามีพลัง กล้าส่งเสียงบอกถึงปัญหา สร้างความตระหนัก สร้างสำนึกให้สังคม ไม่ตีตราผู้ถูกกระทำ ผ่านกิจกรรมปลุกพลังด้วยการวิ่งรณรงค์ บนชายหาด (Beach Run For Awareness) โดยจะเริ่มวิ่งที่เกาะบางเทา ภูเก็ต ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้  อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา  และตั้งเป้าจะวิ่งใน 184 ประเทศทั่วโลกเพื่อให้ได้ระยะทางรวม 3,000 กิโลเมตร ทั้งนี้อยากเชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการถูกข่มขืนของไทยไม่ต่างไปจากทั่วโลก สะท้อนจากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี2558 จากหนังสือพิมพ์14 ฉบับ พบว่ามีข่าวความรุนแรงทางเพศแทบทุกวัน จำนวนรวมทั้งหมดถึง 306 ข่าว มากที่สุดคือข่าวข่มขืนรุมโทรม224ข่าว คิดเป็น73.2%และมีผู้ที่เสียชีวิตถึง20ราย คิดเป็น60%  อาชีพของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา สำหรับปัจจัยกระตุ้นมาจากมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง 30%รองลงมามีปัญหาการยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 23.3%ที่น่าตกใจคือ อายุผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 1-20ปี และน้อยที่สุดคือ1ปี 8 เดือน ทั้งนี้ผู้กระทำ 46% เน้นกระทำกับคนใกล้ชิดและรู้จัก

"ผู้ที่ถูกกระทำจะเกิดผลกระทบทั้งหวาดผวา ระแวง ซึมเศร้า สูญเสียทรัพย์ ถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง หลายรายถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส ซึ่งปัญหาความรุนแรงทางเพศสะท้อนวิธีคิดจากระบบชายเป็นใหญ่ คือ ใช้อำนาจบังคับเพศที่อ่อนแอกว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดผู้ชาย ความคิดโดยรวมของสังคม ส่วนผู้หญิงก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมต้องเดินหน้าอย่างเข้าใจ ตำรวจต้องรับแจ้งความไม่ใช่ให้ไกล่เกลี่ยอย่างเดียว ทั้งนี้ มูลนิธิฯและเครือข่ายผู้หญิงขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนการณรงค์ของแคลร์ เพราะจะทำให้ผู้หญิงเกิดแรงบัลดาลใจลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง  อีกทั้งประเทศต่างๆที่ไปวิ่งรณรงค์จะได้ตระหนัก เข้าใจผู้หญิงที่ถูกกระทำและสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มนี้ให้ลุกขึ้นมายืนในสังคมได้" นายจะเด็จ กล่าว

ขณะที่ นางสาวสุไลพร ชลวิไล กรรมการสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า การถูกข่มขืนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ เช่น กลุ่มหญิงรักหญิง หรือกลุ่มชายรักชาย ทั้งนี้สังคมจะมองเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ มีมายาคติ และสังคมมักจะตีตรา ล้อเลียนให้อับอาย ส่วนกระบวนการให้ความช่วยเหลือยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อยากฝากให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย อย่ามองข้ามคนเหล่านี้ ส่วนคนที่ทำงานด้านนี้ต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน