14 กรกฎาคม 2559
แหล่งข้อมูล: https://www.matichon.co.th/news/211880

“รับแก้ทอม ซ่อมดี้ คืนสตรีสู่สังคม” หรือ “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” เป็นคำพูดติดตลกของผู้ชายหลายคน ที่อาจพูดไปไม่ได้คิดอะไร แต่กับพวกเธอ “ทอม” และ “ดี้” นี่อาจเป็นสิ่งที่ต้องจำไปจนวันตาย เพราะได้เผชิญกับสิ่งที่ “ตลกไม่ออก” ซึ่งเป็นที่มาของงานเสวนาสาธารณะ “แก้ทอม-ซ่อมดี้ เป็นความรุนแรง #เลิกเหอะ” จัดโดยสมาคมเพศวิถีศึกษาร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และภาคีเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิสตรี สิทธิคนข้ามเพศ 53 องค์กร ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนสเถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

“ซ่อม” คำเรียกเชิงอำนาจ

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การใช้คำว่า “ซ่อม” แสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดถึงต้องซ่อม ขณะที่วิธีการคิดของการซ่อมเป็นวิธีคิดเชิงอำนาจ ที่ผู้มีอำนาจสามารถสั่งซ่อมได้ เป็นภาษาที่ใช้ในแวดวงทหารเวลาทำผิดระเบียบวินัย ทั้งนี้ การซ่อมในระบบอำนาจของประเด็นนี้คือ ระบบความคิดชายเป็นใหญ่ ที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจทำได้ ซึ่งถูกสั่งสมและสอนกันมา

“เชื่อกันมาว่าหากซ่อมคนอื่นได้ ตนเองจะเป็นคนถูกต้อง เป็นคนดี แต่ความคิดเหล่านี้หล่อเลี้ยงความรุนแรง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่มีสิทธิใช้อำนาจกำกับควบคุมเพื่อเปลี่ยนแปลงคนอื่น” รศ.กฤตยาเผย และว่า

“มีคำพูดที่ว่าต้องโดนของแข็งถึงจะทำให้ทอมกลับมาเป็นผู้หญิง เราจึงพบกรณีทอมถูกข่มขืนในหลายพื้นที่ เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ เพราะส่วนใหญ่มักยอมความ หรือบางครั้งไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำได้ เพราะถูกล่วงละเมิดทางเพศในขณะมึนเมา ซึ่งก็มาจากพฤติกรรมของทอมจำนวนหนึ่งที่ชอบกินเหล้าสูบบุหรี่กับเพื่อนผู้ชาย ขณะที่ภายหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ชายกลับไม่รู้สึกผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ ส่วนทอมก็โทษเวรกรรม และไม่ไปแจ้งความ โดยบางคนต้องตั้งครรภ์และไปทำแท้งภายหลัง”

รศ.กฤตยาฝากว่า สังคมควรมองว่าเพศภาวะที่แตกต่าง หรือสอดคล้องกับเพศกำเนิดเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งต้องเข้าใจว่าบางคนอาจเลือกมาตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะอาจมีความรู้สึกว่าเราเกิดผิดเพศ ขณะที่บางคนมาเลือกภายหลัง

“ฝากว่ามายาคติเรื่องแก้ทอมซ่อมดี้ เป็นเรื่องที่ไม่ตลกเลย เป็นคำที่ใช้อำนาจ คำที่สร้างความรุนแรงขึ้นมา” รศ.กฤตยาทิ้งท้าย

ตัวอย่างทอมแก้ไม่ได้

สุพีชา เบาทิพย์ เอ็นจีโอกลุ่มทำทางเพื่อสิทธิการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย ซึ่งช่วงชีวิตหนึ่งเธอได้ทดลองมาหมดแล้ว ทั้งเป็นทอม กลับใจเป็นผู้หญิง และเปลี่ยนอีกครั้งในปัจจุบัน เล่าว่าเคยเป็นทอมสมัยวัยรุ่น พอมาอายุ 25 ปีกลับใจเป็นผู้หญิง มีสามีและกำลังตั้งครรภ์ ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้มันไม่ใช่เรา จึงไปทำแท้งและตัดสินใจเป็นทอมอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

“จากประสบการณ์ยืนยันว่า การเป็นทอมซ่อมไม่ได้ และฝากถึงทอมที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ ลองคลิกเข้าไปที่กลุ่มทำทางฯ แล้วจะพบทางเลือกการทำแท้งอย่างปลอดภัย” สุพีชากล่าว

ความเชื่อทอมมักจะบริสุทธิ์        

อาทิตยา อาษา นักศึกษาปริญญาโท สาขาสตรีเพศสถานะและเพศวิถีศึกษา มธ. ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “วาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ ในสื่อออนไลน์” เล่าว่า จากการศึกษามายาคติที่มีต่อผู้หญิงที่ออกนอกลู่เพศหญิงในสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่มองว่าทอมและดี้เป็นของเสียที่สามารถซ่อมได้ โดยใช้รสชาติของความเป็นชาย ในโลกออนไลน์ยังมีมายาคติว่าทอมมักจะบริสุทธิ์ ฉะนั้นต้องได้ลองรสชาติ ได้ถึงจัดสุดยอดก่อนของความเป็นชาย ถึงจะกลับมาเป็นผู้หญิงได้ ซึ่งนี่เป็นความรุนแรงทางเพศ

“ปัญหานี้แก้ยาก เพราะคนในสังคมยังมองเรื่องเพศตามสรีระที่มีเพียง 2 เพศคือ ชาย และหญิง ฉะนั้นอาจต้องทำความเข้าใจการเคารพถึงความแตกต่างทางเพศ ตรงนี้อาจต้องทำเป็นแบบเรียนสอนกันในโรงเรียน สอนให้เข้าใจว่าการเป็นทอมไม่ใช่สักวันหนึ่งจะกลับตัวได้ เป็นทอมสักวันหนึ่งก็ต้องแต่งงานสักวัน” อาทิตยากล่าว

สารพัดวิธีแก้ทอมซ่อมดี้

ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เล่าว่า สมาคมได้รับเรื่องร้องเรียนการใช้ความรุนแรงทางเพศกับทอมและดี้ในหลายจุดทั่วประเทศ ซึ่งพบผู้กระทำมีทั้งคนในครอบครัวไปจนถึงคนแปลกหน้า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ทอมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่กล้าไปไหนมาไหน ถูกละเมิดทางเพศแล้วไม่กล้าไปแจ้งความ อย่างมีกรณีสลดใจคือเหตุการณ์ทหารข่มขืนทอม หลังไปจีบผู้หญิงคนเดียวกัน โดยทหารดังกล่าวยกพวกไปฉุดทอมและเพื่อนทอมอีก 2 คนไปข่มขืนแก้แค้น โดยเพื่อนทอม 2 คนถูกข่มขืนในป่าแล้วปล่อยเดินเปลือยออกมา ส่วนทอมคู่กรณีข่มขืนแล้วถูกฆ่าทิ้ง

ทิพย์อัปสรกล่าวอีกว่า สังเกตว่าทอมและดี้จะถูกกระทำความรุนแรงมากในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตเมือง ซึ่งอาจเพราะคนยังมีระบบคิดเหมือนเดิม ทั้งเรื่องเพศที่มีเพียงผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงชายเป็นใหญ่ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิด เช่น ในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสานที่พ่อว่าจ้างวัยรุ่นในหมู่บ้านมาข่มขืนลูกของตนเอง หรือกรณีพ่อแม่ที่นับถือศาสนามุสลิม บังคับคลุมถุงชนลูกให้แต่งงานกับผู้ชาย ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนให้เป็นผู้หญิงตามระบบคิดเดิมๆ

ภายในงานยังมีการจับกลุ่มพูดคุยอย่างกว้างขวาง เกิดประเด็นใหม่ๆ โดยภาพรวมการเสวนามีการสะท้อนความเห็นฝากไปถึงสังคมว่า

“ไม่ต้องมาแก้ทอมซ่อมดี้ พวกเราก็เป็นของเราอย่างนี้ ขอให้เคารพความแตกต่างทางเพศ ไม่ติดอยู่ในกรอบความคิดเรื่องเพศมี 2 เพศ ชายและหญิงตามสรีระเท่านั้น และตรงนี้อาจแก้ด้วยการปลูกฝั่งและสร้างความเข้าใจผ่านระบบการศึกษา”

 

กฤตยา อาชวนิจกุล – สุพีชา เบาทิพย์ – ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล

อาทิตยา อาษา