5 ตุลาคม 2559

ที่มา https://www.matichon.co.th/news/309313

ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับสถานการณ์ท้องวัยรุ่น ล่าสุดมี พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 อีกทั้งยังจัดทำแผนเชิงป้องกันต่างๆ ตั้งแต่ตู้กดซื้อถุงยางในโรงเรียน สอนเพศศึกษา มีบริการคุมกำเนิดฟรีตามสถานพยาบาลของรัฐ แต่แทบไม่มีใครพูดถึง การยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หรือการทำแท้ง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอนาคตเด็กและเยาวชนเช่นกัน

เป็นความรู้และข้อมูลน่าสนใจจากวงเสวนา เรื่อง “คุยเรื่องแท้ง : คิดใหม่ มุมมองใหม่” ในงานการรณรงค์เพื่อสิทธิเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ทุกปีจะมีผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าไปทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย และเสียชีวิตถึงปีละ 4.7 หมื่นคน หรือร้อยละ 13 จากสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก อย่างในประเทศไทยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า มีผู้หญิงเข้ารับการรักษาจากภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งประมาณ 3 หมื่นคน เสียชีวิตประมาณ 24-28 คนต่อปี เครือข่ายจึงต้องการสร้างความรู้เข้าใจถึงสิทธิการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกหลอกลวงเอาเปรียบจากกลุ่มคนที่ขายยาทำแท้งปลอม จนต้องเผชิญความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต

“เวลาค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต อย่าพิมพ์แค่คำว่า “ทำแท้ง” เพราะจะได้ข้อมูลไม่ถูก แต่ให้พิมพ์คีย์เวิร์ดว่า “กลุ่มทําทาง”, “สายด่วน 1663″ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายเราคอยให้บริการแบบนิรนาม ตั้งแต่ให้คำปรึกษาเรื่องการทำแท้งอย่างปลอดภัยกับผู้หญิงทุกอายุและชนชั้น มีบล็อกเขียนให้ข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีแพทย์อาสาคอยให้ความช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมครอบคลุมทุกภูมิภาค” รศ.กฤตยากล่าว และว่า ตอนนี้ขอเพียงผู้หญิงสามารถเข้าถึงและมีข้อมูล เขาก็สามารถเข้าสู่กระบวนการทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายได้

พลิกดูด้านกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ทำแท้ง 3 กรณีคือ 1.สุขภาพกายและจิตแม่ 2.สุขภาพเด็ก 3.ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ถูกล่อลวง บังคับ หรือยินยอมแต่อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำได้ที่คลินิก แต่หากเกินต้องไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น ขณะที่วิธียุติการตั้งครรภ์ปัจจุบันที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมี 2 วิธีคือ 1.ใช้อุปกรณ์กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual vacuum aspiration: MVA) 2.ใช้ยายุติการตั้งครรภ์

ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กระบอกดูดสุญญากาศเป็นเทคโนโลยีที่มาแทนการขูดมดลูก ซึ่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า การขูดที่อาจทำให้มดลูกทะลุ มดลูกตีบตัน บางเคสขูดเอาลำไส้ติดออกมาด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ แต่ที่เครื่องดูดไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะถูกมองอคติว่าถูกสร้างมาเพื่อทำแท้งโดยตรง บางโรงเรียนแพทย์ที่ต่อต้านการทำแท้งจึงไม่มีเครื่องมือนี้เลย ขณะที่เครื่องดูดใช้กรณีอายุครรภ์ไม่ถึง 12-14 สัปดาห์

ส่วนยายุติการตั้งครรภ์นั้น ปัจจุบันมียา “Medabon” หรือยาปรับประจำเดือน ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมาก กินเพียงไม่กี่เม็ดประจำเดือนก็กลับมาปกติ ใช้กรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์” โดย ผศ.นพ.สัญญายืนยันว่า “ทั้ง 2 วิธีนี้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 99 หากทำวิธีถูกต้อง และจะไม่มีผลกระทบระยะยาว มดลูกไม่อักเสบ สามารถมีลูกได้อีก”

“แต่ยา Medabon ขณะนี้ยังเป็นยาควบคุมพิเศษเหมือนยาเสพติด ทุกครั้งที่สั่งจ่ายยา หมอคนนั้นต้องทำบันทึกถึงกรมอนามัยทุกครั้ง ฉะนั้นยอมรับว่าคนทั่วไปยังเข้าถึงลำบาก หาซื้อทั่วไปไม่ได้ แนะนำว่าให้มาที่โรงพยาบาลรามาฯ ในวันอังคารและวันพฤหัสบดี ผมจะไม่ตั้งคำถามเลย ยานี้ยังสะดวกกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไป ที่ต้องกินตรงตามเวลาถึงจะมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ขอฝากไปถึงคนที่ชอบใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยเฉพาะวัยรุ่น เนื่องจากร้อยละ 90 ของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มาหาที่โรงพยาบาล พบว่าเกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งผมขอบอกว่ามันไม่เวิร์ก และไม่ควรใช้ประจำ” ผศ.นพ.สัญญากล่าว

ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้ว เหลืออย่างเดียวตอนนี้คือ “ใจ” ที่ยอมรับของสังคม ที่ต้องคิดว่าการทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ฉะนั้นทำอย่างไรจะเป็นทางเลือกที่ถูกกฎหมาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ภายใต้ประโยคสำคัญที่ว่า

“ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้อง เพื่อจะไปทำแท้ง”