9 มีนาคม 2560

ที่มาhttps://www.matichonweekly.com/hot-news/article_27575

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2560 ภายใต้แคมเปญ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” (Safe Cities for Women) ชูประเด็นหยุดการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ

น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างกันยายนถึงตุลาคม 2559 สำรวจผู้หญิงที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,500 คน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตและพักอาศัยในกรุงเทพฯ นานกว่า 10 ปี เมื่อถามถึงการเดินทางที่ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ คำตอบที่พบมากที่สุดคือ เดินเข้าซอยคนเดียว 26% เดินทางตอนเช้ามืดหรือตอนกลางคืน 25% นั่งรถแท็กซี่ 16% รองลงมาคือรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถสองแถว เรือ รถไฟ 13.5% และซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 10%

“มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยถูกคุกคามทางเพศ ขณะเดินทางหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่พบมากสุด คือพูดแซว พูดลามก 26% รองลงมาคือการผิวปากใส่ 18% ลวนลามด้วยสายตา 18% แตะเนื้อต้องตัวหรือใช้อวัยวะถูไถ 17% โชว์อวัยวะเพศหรือสำเร็จความใคร่ให้ดู 7% สะกดรอยตาม 7% และโชว์คลิปโป๊หรือแอบถ่าย 6% แต่ที่น่าตกใจคือ มีคำตอบจากผู้หญิงที่ตอบแบบสำรวจ 1.6% ระบุว่าเคยถูกทำอนาจารหรือข่มขืน”
น.ส.วราภรณ์กล่าว และว่า เมื่อถูกคุกคามทางเพศ กลุ่มตัวอย่าง 38% ตอบโต้ด้วยการนิ่งหรือชักสีหน้าไม่พอใจ หรือพยายามหลีกหนี ส่วน 21% ตอบโต้ด้วยการโวยวาย พูดเสียงดัง ตะโกนด่า ขณะที่ 16% เลือกที่จะเฉยเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ มีเพียง 14% ที่เลือกแจ้งเหตุไปยังหน่วยบริการที่รับผิดชอบ และ 12% ที่แจ้งตำรวจ

นางกุสุมา จันทร์มูล พนักงานเดินรถ ขสมก. กล่าวว่า ตอนเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารเคยเจอผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งกระโปรงเปื้อนคราบอสุจิ ถามว่าให้แจ้งความดำเนินคดีไหม แต่เธอบอกว่ารีบไปทำงานและปล่อยเหตุการณ์ผ่านไป เหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่จะเกิดบนรถเมล์บางสาย อย่างไรก็ดี พนักงานเก็บค่าโดยสารสมัยนี้ นอกจากมีหน้าที่เก็บเงิน เรายังดูแลความปลอดภัย การเจ็บป่วยและการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสาร